Active learning ระบบการเรียนรู้ด้วยตัวเอง

Active Learning

รู้หรือไม่ในอดีตรูปแบบการเรียนของไทยนั้นมีลักษณะเป็น Passive Learning? ซึ่ง Passive Learning เป็นการเรียนแบบท่องจำ ฟังบรรยาย ซึ่งเห็นได้ทั่วไปตามห้องเรียนของโรงเรียน ในขณะที่ Active Learning เป็นการเรียนรู้ที่ผู้เรียนแสวงหาด้วยตัวเอง เกิดการตั้งคำถาม ค้นหาทางแก้ปัญหา และสร้างสรรค์สิ่งต่างๆออกมา ฟังแล้วคล้ายการทำวิจัยชอบกล แต่นั่นแหละมันคือ Active Learning ซึ่งมีโรงเรียนในต่างจังหวัดน้อยนักที่จะมีกระบวนการเรียนรู้ดังกล่าว

ในช่วงหลายปีผ่านมานี้หลายๆ โรงเรียนก็เริ่มปรับเปลี่ยนจากการสั่งการบ้านให้จดตามหนังสือเป็นการคิดโปรเจคหรืองานสร้างสรรค์ เพื่อให้เด็กได้ฝึกประยุกต์กระบวนคิดในการแก้ปัญหา โดยการให้โจทย์ปัญหาแก่เด็กๆ ช่วยกันแก้ โดยให้พวกเขาร่วมกันแก้ และระดมความคิดช่วยกัน การเรียนในลักษณะนี้จะเป็นการกระตุ้นให้เด็กๆฝึกใช้สมอง และเพลิดเพลินกับการเรียนมากขึ้น

การเรียนแบบ Active Learning เป็นการเรียนแบบลงมือปฏิบัติ นอกจากจะช่วยส่งเสริมกระบวนการคิดของเด็กๆแล้ว ยังช่วยฝึกให้เด็กๆกล้าแสดงออก กล้าออกความเห็น เมื่อเกิดการโต้ตอบระหว่างครูและนักเรียนเพื่อให้ได้ข้อสรุป พวกเขาจะเกิดการสร้างองค์ความรู้ใหม่ (Constructivist) ด้วยตนเอง ซึ่งรูปแบบหรือเทคนิคในการจัดการเรียนแบบ Active Learning นั้นมีหลายรูปแบบ ตัวอย่างเช่น

  • การเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมเป็นฐาน ซึ่งทางครูผู้สอนอาจจัดเป็นฐานกิจกรรมแยกตามรายวิชาต่างๆ หรือหากเป็นการสอนในห้องเรียน ครูผู้สอนอาจแยกฐานการเรียนรู้ตามหัวข้อที่เรียน อาจเป็นการมอบหมายหัวข้อให้นักเรียนทำหรือครูจัดขึ้นมาเองเพื่อให้พวกเขาไม่เบื่อหน่ายในการเรียน หนำซ้ำยังสนุกเพลิดเพลิน และได้ความรู้อีกด้วย
  • การเรียนรู้เชิงประสบการณ์ ครูอาจจัดกิจกรรมพานักเรียนทัศนะศึกษานอกสถานที่ เช่น จัดกิจกรรมเดินป่าขึ้น เพื่อให้เด็กๆเรียนรู้การเอาตัวรอด เป็นการกระตุ้นกระบวนการคิด แถมยังทำให้เด็กๆ เข้าใจธรรมชาติ ปลูกฝังการรักสิ่งแวดล้อม ให้พวกเขาเห็นประโยชน์ต่อส่วนรวม และเข้าใจความสำคัญของธรรมชาติว่าส่งผลดีต่อตนเองอย่างไร เป็นการกระตุ้นสามัญสำนึกในอีกรูปแบบหนึ่งด้วย
  • การเรียนรู้โดยใช้โครงงาน การเรียนรู้ในลักษณะนี้จะช่วยให้เด็กคิดแก้ปัญหาในเชิงสร้างสรรค์ วันที่เด็กๆเสนอโปรเจ็ค คุณจะตื่นเต้นกับแนวคิดของพวกเขา และเข้าใจถึงกระบวนการคิดของพวกเขามากขึ้น ทำให้คุณประเมินพวกเขาได้ว่าพวกเขาสามารถผ่านเกณฑ์ที่ทางโรงเรียนกำหนดขึ้นมาหรือไม่

ตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างไม่กี่ข้อที่จริงแล้วยังมีอีกมาก ให้เราได้คิดสร้างสรรค์เทคนิคนั้นออกมา การเรียนแบบ Active Learning นอกจากจะเป็นความท้าทายของนักเรียนในการแก้ปัญหาแล้ว ยังเป็นความท้าทายของครูในการตั้งโจทย์อีกด้วย ถือว่าเป็นการพัฒนาทั้งครูและนักเรียนเลยทีเดียว!

Back To Top